วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)

ความหมายและแนวคิดของการเรียนรู้แบบร่วมมือ
Cooperative and Collaborative Learning หรือ การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เพราะมีลักษณะเป็นกระบวนการเรียนรู้เป็นแบบร่วมมือ ข้อแตกต่างระหว่าง Cooperative Learning กับ Collaborative Learning อยู่ที่ระดับความร่วมมือที่แตกต่างกัน Sunyoung, J. (2003) ได้สรุปว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนระหว่าง Cooperative Learning กับ Collaborative Learning คือ เรื่องโครงสร้างของงานอัน ได้แก่ Pre – Structure , Task – Structure และ Content Structure โดย Cooperative Learning จะมีการกำหนดโครงสร้างล่วงหน้ามากกว่า มีความเกี่ยวข้องกับงานที่มีการจัดโครงสร้างไว้เพื่อคำตอบที่มีขอบเขตจำกัด ชัดเจน และมีการเรียนรู้ในขอบข่ายความรู้และทักษะที่ชัดเจนมากกว่า ส่วน Collaborative Learning มีการจัดโครงสร้างล่วงหน้าน้อยกว่า เกี่ยวข้องกับงานที่มีการจัดโครงสร้างแบบหลวมๆ (ill – Structure Task) เพื่อให้ได้คำตอบที่ยืดหยุ่นหลากหลาย และมีการเรียนรู้ในขอบข่ายความรู้และทักษะที่ไม่จำกัดตายตัว ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพการเรียนการสอนออนไลน์มักนิยมใช้คำว่า Collaborative Learning
Nagata and Ronkowski (1998) ได้สรุปเปรียบว่า Collaborative Learning เป็นเสมือนร่มใหญ่ที่รวมรูปแบบหลากหลายของ Cooperative Learning จากกลุ่มโครงการเล็กสู่รูปแบบที่มีความเฉพาะเจาะจงของกลุ่มการทำงานที่เรียก ว่า Cooperative Learning กล่าวได้ว่า Cooperative Learning เป็นรูปแบบหนึ่งของ Collaborative Learning ที่ได้ถูกพัฒนาโดย Johnson and Johnson (1960) และ ยังคงเป็นที่นิยมใช้แพร่หลายในปัจจุบัน
Office of Educational Research and Improvement (1992) ได้ให้ความหมายของ Cooperative Learning ว่าเป็นกลยุทธ์ทางการสอนที่ประสบผลสำเร็จในทีมขนาดเล็ก ที่ซึ่งนักเรียนมีระดับความสามารถแตกต่างกัน ใช้ความหลากหลายของกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อการปรับปรุงความเข้าใจต่อเนื้อหาวิชา สมาชิกแต่ละคนในทีมมีความรับผิดชอบไม่เพียงแต่เฉพาะการเรียนรู้แต่ยังรวมถึง การช่วยเหลือเพื่อนร่วมทีมในการเรียนรู้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างบรรยากาศเพื่อให้บังเกิดการบรรลุผลสำเร็จที่ตั้งไว้ ด้วย
Penn State University College of Education (2004) ได้ให้คำจำกัดความของ Collaborative Learning ว่ามีคุณลักษณะของการแบ่งปัน เข้าใจเป้าหมาย มีการยอมรับซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นและมีขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการติดต่อสื่อสารในสิ่งแวดล้อมที่เป็นทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีการตัดสินใจจากการลงความเห็นร่วมกัน ซึ่งผู้สอนจะเป็นผู้เอื้ออำนวยและชี้แนะให้ นักเรียนได้มองเห็นทางออกของปัญหานั้นๆ
Thirteen Organization (2004) ได้สรุปว่า Collaborative Learning เป็นวิธีการหนึ่งของการสอนและการเรียนรู้ในทีมของนักเรียนด้วยกัน เป็นการเปิดประเด็นคำถามหรือสร้างโครงการที่เต็มไปด้วยความหมาย ตัวอย่างเช่น การที่กลุ่มของนักเรียนได้มีการอภิปราย หรือการที่นักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆทำงานร่วมกันผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อแบ่งปันงานที่ได้รับมอบหมาย ส่วนCooperative Learning เป็นการมุ่งเน้นโดยเบื้องต้นที่การทำกิจกรรมกลุ่ม เป็นแบบเฉพาะเจาะจงรูปแบบของการร่วมมือ ซึ่งนักเรียนจะทำงานร่วมกันในกลุ่มเล็กในโครงสร้างของกิจกรรม ทุกคนจะมีความรับผิดชอบในงานของพวกเขา โดยทุกคนสามารถเข้าใจถึงการทำงานเป็นกลุ่มเป็นอย่างดี และการทำงานกลุ่มแบบ Cooperative นั้นจะมีการทำงานในลักษณะเผชิญหน้า (Face – to –face) และเรียนรู้เพื่อทำงานเป็นทีม

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)  แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ  การเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อยโดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถแตกต่างกันประมาณ 3 6 คน  ช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม  โดยผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะแข่งขันกัน  ต่างคนต่างเรียนและร่วมมือกันหรือช่วยกันในการเรียนรู้  การจัดการเรียนการสอนตามทฤษฏีนี้จะเน้นให้ผู้เรียนช่วยกันในการเรียนรู้ โดยมีกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนมีการพึ่งพาอาศัยกันในการเรียนรู้  มีการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด  มีการสัมพันธ์กัน  มีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม  มีการวิเคราะห์กระบวนการของกลุ่ม  และมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบงานร่วมกัน   ส่วนการประเมินผลการเรียนรู้ควรมีการประเมินทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยวิธีการที่หลากหลายและควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน  และครูควรจัดให้ผู้เรียนมีเวลาในการวิเคราะห์การทำงานกลุ่มและพฤติกรรมของสมาชิกกลุ่ม  เพื่อให้กลุ่มมีโอกาสที่จะปรับปรุงส่วนบกพร่องของกลุ่ม

ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Theory of Cooperative or Collaborative Learning)
หลักการ
1.การเรียนรู้แบบร่วมมือ คือการเรียนรู้เป็นกลุ่มย่อย มีสมาชิก 3-6 คน สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถที่แตกต่างกัน สมาชิกช่วยกันเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม
2.องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบร่วมมือ ประกอบด้วย การพึ่งพาและเกื้อกูลกันการปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด, ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ของสมาชิกแต่ละคน, การใช้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย, และ การวิเคราะห์กระบวนการกลุ่มเพื่อให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้และปรับปรุงการทำงาน
การประยุกต์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
1.ด้านการวางแผนการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย กำหนดจุดมุ่งหมาย ขนาดกลุ่ม องค์ประกอบของกลุ่ม บทบาทของสมาชิก สถานที่ และงานที่กำหนดให้ผู้เรียนทำ
2.ด้านการสอน ประกอบด้วย อธิบายและชี้แจงการทำงานของกลุ่ม เกณฑ์การประเมิน การพึ่งพาและเกื้อกูลกัน การช่วยเหลือกันระหว่างกลุ่ม การตรวจสอบความรับผิดชอบและหน้าที่ของแต่ละคน และพฤติกรรมที่ความหวัง
3.ด้านการควบคุมกำกับและการช่วยเหลือกลุ่ม ประกอบด้วย ดูแลให้สมาชิกกลุ่มปรึกษาหารือกันอย่างใกล้ชิด สังเกตการณ์การทำงานร่วมกันของกลุ่ม ให้ข้อมูลป้อนกลับและการเสริมแรง ช่วยเหลือกลุ่มตามความเหมาะสม และสรุปการเรียนรู้
4.ด้านการประเมินผลและวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ ประกอบด้วย ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ ใช้วิธีการที่หลากหลาย ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมิน และวิเคราะห์กระบวนการทำงานและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

สรุป  การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative and Collaborative Learning) เป็นวิธีการ จัดการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติงานเป็นกลุ่มย่อย โดยมีสมาชิกกลุ่มที่มีความสามารถที่แตกต่างกัน เพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพการเรียนรู้ของแต่ละคน สนับสนุนให้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้นอก จากนี้ การเรียนรู้แบบร่วมมือ ยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทีม ตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ สามารถปรับตัวให้อยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

               
อ้างอิง :   http://www.idis.ru.ac.th/report/index.php?topic=2821.0 เข้าถึงเมื่อ : 23 กรกฎาคม 2554
http://www.niteslink.net/web/?name=webboard&file=read&id=7 เข้าถึงเมื่อ: 27 มิถุนายน 2554
http://www.pochanukul.com/?p=157 เข้าถึงเมื่อ: 23 กรกฎาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น